banner
หน้าหลัก
ข่าว ความเคลื่อนไหว และ คลังความรู้
ข่าว ความเคลื่อนไหว และ คลังความรู้
"กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา"
หมวดหมู่
SDGs ยอดนิยม
newspicture
TCAS คืออะไร? มารู้จักกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

TCAS คืออะไร?

TCAS (Thai University Center Admission System) คือระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศไทย ดำเนินการโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งหลายคนคงจะเข้าใจว่ามันคือระบบ เอนทรานซ์ หรือ Admission หรือเปล่า? ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่ทั้งเอนทรานซ์และ Admission เหมือนสมัยก่อนแต่ TCAS นั้นจะเป็นระบบใหญ่ที่รวมการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกรูปแบบโดยเฉพาะภาคภาษาไทยเข้าไว้เป็นศูนย์กลางของการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อนั่นเอง

ความสำคัญของระบบ TCAS

ระบบ TCAS ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มความยุติธรรมและลดความกดดันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยนักเรียนสามารถวางแผนการสมัครและการเตรียมตัวได้ดีขึ้น การมีหลายรอบการสมัครช่วยให้นักเรียนมีโอกาสในการเลือกคณะที่เหมาะสมกับตนเองมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความซ้ำซ้อนในการยื่นคะแนนและเพิ่มโอกาสในการได้รับคณะที่ต้องการ

TCAS มีกี่รอบ?

ระบบ TCAS แบ่งการรับสมัครนักเรียนออกเป็น 4 รอบหลัก ซึ่งแต่ละรอบมีลักษณะและความสำคัญแตกต่างกันไป ดังนี้:

รอบที่ 1: พอร์ตฟอลิโอ (Portfolio)

เป็นรอบที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีผลงานหรือความสามารถพิเศษในการสมัครเข้าศึกษาต่อ โดยไม่ต้องใช้คะแนนสอบ โดยนักเรียนจะต้องส่ง Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงานให้กับมหาวิทยาลัยที่ต้องการสมัคร และมหาวิทยาลัยจะพิจารณาจากผลงานและคุณสมบัติของนักเรียนที่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด

รอบที่ 2: โควตา (Quota)

รอบนี้จะเปิดรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือจังหวัดที่มหาวิทยาลัยนั้น ๆ ตั้งอยู่ หรือมีเงื่อนไขพิเศษอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยกำหนด เช่น โควตานักกีฬา โควตานักเรียนที่มีผลการเรียนดีในกลุ่มวิชาเฉพาะ

รอบที่ 3: การสอบตรงกลาง (Admission)

รอบนี้เป็นการรับสมัครที่มีการแข่งขันสูงที่สุด เนื่องจากเปิดรับนักเรียนจากทั่วประเทศ นักเรียนต้องใช้คะแนนจากการสอบกลางหรือคะแนนสอบเฉพาะทาง (เช่น กสพท.)    มาสมัครเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย โดยนักเรียนสามารถเลือกอันดับของคณะที่ต้องการสมัครได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

รอบที่ 4: รับตรงอิสระ (Direct Admission)

รอบนี้เป็นรอบสุดท้ายที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ยังไม่สามารถเข้าสู่มหาวิทยาลัยในรอบก่อนหน้าได้สมัครเข้าเรียนโดยตรงกับมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดเงื่อนไขและวิธีการคัดเลือกได้อย่างอิสระ

เงื่อนไขการบริหารจัดการสิทธิ์

  1. เมื่อเสร็จสิ้นการคัดเลือกแต่ละรอบ จะต้องเข้าระบบ TCAS เพื่อยืนยันสิทธิ์การเข้าศึกษาต่อ โดยยืนยันสิทธิ์ได้เพียงแห่งเดียว เท่านั้น! (เปลี่ยนใจได้ 2 ครั้งในช่วงเวลายืนยันสิทธิ์)
  2. หากไม่ยืนยันสิทธิ์ (ไม่ใช้สิทธิ์) สามารถไปสมัครรอบถัดไปได้
  3. กรณียืนยันสิทธิ์แล้ว ต้องการไปสมัครรอบถัดไป ต้องสละสิทธิ์ (ภายในช่วงเวลาที่กำหนด) จึงจะสามารถสมัครรอบถัดไปได้
  4. การสละสิทธิ์ทำได้ 1 ครั้ง ตลอดการคัดเลือก
Thumb
newspicture
ความเป็นมาและลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา

ความเป็นมาและลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา

          การทำความเข้าใจที่มาที่ไปและคุณลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพ จะสามารถทำให้อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาตระหนักและเห็นความสำคัญความเป็นครูในโลกศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนแปลงได้ และนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในการเขียนใบสมัคร UP-PSF1 ต่อไป  ในบทนี้ จึงขออธิบายเนื้อหาที่ประกอบด้วย 1) ความเป็นมาของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพ และ 2) ลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา

ความเป็นมา

          สถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกกําลังให้ความสนใจการพัฒนาอาจารย์ให้เป็นมืออาชีพทั้งด้านการวิจัย การพัฒนาหลักสูตรและการจัดเรียนการสอน นั่นคือเป็นการพัฒนาบทบาทของอาจารย์ให้มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถที่จําเป็นต่อการเรียนรูู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ให้มีความสามารถในการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและในระดับสากล และเพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

          การริเริ่มเกิดขึ้นจากสถาบันการอุดมศึกษาของอังกฤษ (The higher Education Academy: HEA) ได้การพัฒนากรอบมาตรฐานวิชาชีพดำเนินการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ (UK Professional standards framework: UKPSF) โดยก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระระดับชาติในสหราชอาณาจักรได้จัดทำกรอบมาตรฐานวิชาชีพระดับอุดมศึกษา United Kingdom Professional Standard Framework (UHPSF) เพื่อประเมินและรับรองหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพการสอนของคณาจารย์ และใน พ.ศ. 2560 HEA ได้ควบรวมกับ Equality Challenge Unit และ Leadership Foundation for Higher Education และเปลี่ยนชื่อเป็น Advance HE และร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก เพื่อจัดฝึกอบรมและประเมินคุณภาพการสอนและการกำหนดวิทยฐานะของผู้ผ่านการประเมิน (Descriptors) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ โดยต้องการให้อาจารย์มีความเป็นนักวิชาการ มีึความเป็นครูและมีความเป็นมนุษย์

         นอกจากที่ประเทศอังกฤษแล้วที่มี HE Academy (UK) – UKPSF ก็ยังมีแนวคิดมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพจากประเทศต่าง ๆ เช่น  Regional Pedagogical Centres for HE, Australian Professional Standards for teacher, Australian University Teaching, Criteria and Standard Framework และ National Board for Professional Teaching Standards[1] ซึ่งมีกำหนดกรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพเช่นกัน โดยมีลักษณะร่วมที่คล้ายคลึงกันแต่นำมาประยุกต์และกำหนดใช่้ในบริบทที่แตกต่างของประเทศและมหาวิทยาลัยของตนเอง

         ใน พ.ศ. 2558 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับสหภาพยุโรป (EU) ในโครงการ “TQF and the Development of Professional Standards Framework” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเป็นมืออาชีพของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านศาสตร์ในสาขา ด้านการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และทัศนคติที่ดีงามในความเป็นอาจารย์มืออาชีพ จนในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจัดทำกรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพที่เป็นกรอบกลางเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาที่สนใจได้มีแนวทางในการพัฒนากรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพตามบริบทของตนเองด้วยความสมัครใจ[2]

         มาตรฐานวิชาชีพของอาจารย์มืออาชีพ (PSF) สามารถนำมาใช้เป็นกรอบมาตรฐานการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ  ได้ เนื่องจากเป็นสากลและประยุกต์ใช้ในหลายประเทศได้ผลดี สอดคล้องกับวิธีการสอนจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่นำ PSF ของประเทศต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT-PSF) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT-PSF) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU-TPSF)  มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (SDUPSF) มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU-PSF) และมหาวิทยาลัยพะเยา (UP-PSF)

           จากที่มาและความสำคัญข้างต้น มหาวิทยาลัยพะเยาจึงมีประกาศเรื่อง มาตรฐานอาจารย์มืออาชีพ มหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของอาจารย์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนั่นนับว่า มหาวิทยาลัยพะเยาให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนและมุ่งพัฒนาให้อาจารย์มีความเป็นมืออาชีพในการเรียนการสอนที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยพะเยาไปสู่สถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับตามมาตรฐานยิ่งขึ้น

 

[1] โปรดดูรายละเอียดใน วิจิตร ศรีสอ้าน. (สื่อนำเสนอ).ความก้าวหน้าของวิชาชีพอาจารย์และแนวทางการพัฒนากรอบมาตรฐานวิชาชีพด้านการสอนของ มทส.., วิจิตร ศรีสอ้าน. (สื่อนำเสนอ). แนวทางการพัฒนาอาจารย์ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ UKPSF ในประเทศไทย. และ สุวมาลย์ ม่วงประเสริฐ. (สื่อนำเสนอ). กรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพด้านการสอน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต. คณะกรรมการพัฒนากรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต.

[2] สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา. (2561). แนวทางการส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.

 

ลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา

การส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะและประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน จำนวน 3 องค์ประกอบ ดังนี้

1. องค์ความรู้ (Knowledge)-KNOW (knowledge)

1.1 ความรู้ในศาสตร์สาขาของตน

1.2 ความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้

2.  สมรรถนะการจัดการเรียนรู้ (Professional competencies)-DO (activities)

    2.1 ออกแบบและวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน

    2.2 ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    2.3 เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน

    2.4 วัดประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน พร้อมทั้งสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์

3.  คุณค่าของอาจารย์ (Professional values)-BE (values)

    3.1 คุณค่าในการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

    3.2 ธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอาจารย์

        คุณภาพการจัดการเรียนการสอนในแต่ละองค์ประกอบข้างต้น กำหนดให้มีระดับของคุณภาพของแต่ละองค์ประกอบ จำนวน 4 ระดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของอาจารย์ด้านการจัดการเรียนการสอน โดยใน 4 ระดับ มีดังนี้

       ระดับที่ 1 เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของตนและประยุกต์ใช้ได้ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้เบื้องต้น สามารถออกแบบกิจกรรม จัดบรรยากาศ ใช้ทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงผู้เรียนและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ สามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน นำผลประเมินมาใช้ปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์ขององค์กร

     ระดับที่ 2 เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนการสอนระดับที่ 1 ที่มีความรู้ลึกในศาสตร์ของตน และติดตามความก้าวหน้าของความรู้ในศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้ สามารถจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน กำกับดูแลและติดตามผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่เพื่อนอาจารย์ในศาสตร์ได้ และส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์ภายในองค์กร

     ระดับที่ 3 เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนการสอนระดับที่ 2 ที่เชี่ยวชาญ ในศาสตร์ของตน ศาสตร์การเรียนรู้ และการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ นำผลการวิจัยในชั้นเรียนมาพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เป็นพี่เลี้ยงและผู้ชี้แนะในระดับองค์กรด้านการจัดการเรียนรู้และนโยบายด้านจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์

     ระดับที่ 4 เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนการสอนระดับที่ 3 ที่เป็นผู้นำในศาสตร์ของตน ศาสตร์การเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาองค์ความรู้ และการจัดการเรียนรู้ในระดับชาติและนานาชาติ เป็นผู้นำเชิงนโยบายด้านจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์

 


 

Thumb
newspicture
การขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาสำหรับนิสิตที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาหรือศิษย์เก่า สามารถขอเอกสารสำคัญทางการศึกษา

การขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาสำหรับนิสิตที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาหรือศิษย์เก่า

สามารถขอเอกสารสำคัญทางการศึกษา ได้ดังนี้

  1. Transcript (จบแล้ว) เป็นรายงานผลการศึกษา (เกรด) ทุกภาคเรียนที่นิสิตเรียนไปแล้วและมีวันที่สำเร็จการศึกษา สามารถขอได้หลังจากมหาวิทยาลัยอนุมัติสำเร็จการศึกษาแล้ว หรือนิสิตมีสถานะสำเร็จการศึกษาแล้ว หากต้องการแบบเอกสาร ยื่น UP03 คำร้องขอใบแสดงผลการเรียน (TRANSCRIPT) หรือต้องการแบบไฟล์ PDF โดยส่งทางอีเมลล์ของผู้ใช้บริการที่ระบุในระบบ reg ยื่น UP03.1 คำร้องขอใบรายงานผลการศึกษา (Digital Transcript) 
  2. ใบรับรองคุณวุฒิ เป็นเอกสารสำคัญที่รับรองว่านิสิตสำเร็จการศึกษาหลักสูตรอะไร สาขาอะไร ปริญญาอะไร สามารถใช้แทนใบปริญญาบัตรได้ โดยถ่ายสำเนาประกอบการสมัครงานหรือศึกษาต่อ 
  3. ใบปริญญาบัตร สำหรับบัณฑิตที่ไม่ได้เข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มารับด้วยตนเอง ได้ที่งานทะเบียนนิสิต กองบริการการศึกษา ชั้น 1 อาคารสำนักงานอธิการบดี โดยสำเนาบัตรประชาชนพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องยื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับปริญญาบัตร หรือ ให้จัดส่งทางไปรษณีย์ โดยยื่นคำร้อง UP31 ผ่านระบบ www.reg.up.ac.th “ใบปริญญาบัตรมีใบเดียว ถ้าหายไม่สามารถออกให้ใหม่ได้ โปรดรักษาไว้ให้ดี ควรมารับด้วยตนเอง”
  4. ใบแปลใบรับรองคุณวุฒิ เป็นการนําใบรับรองคุณวุฒิมาขอแปลเปนฉบับภาษาอังกฤษ โดยมีเอกสารประกอบการยื่นขอ ดังนี้ สำเนาใบรับรองคุณวุฒิ (สำหรับนิสิตที่ยังไม่ได้รับใบรับรองคุณวุฒิฉบับจริง ให้ยื่นขอ up31 หรือติดต่อรับที่
    งานทะเบียนนิสิต) จำนวน 1 ฉบับ และ สำเนาใบTranscript จำนวน 1 ฉบับ   
  5. ใบแปลปริญญาบัตร เป็นการนําใบปริญญาบัตรมาขอแปลเปนฉบับภาษาอังกฤษ โดยมีเอกสารประกอบการยื่นขอ ดังนี้
    สำเนาใบปริญญาบัตร (สำหรับนิสิตที่ยังไม่ได้รับใบปริญญาบัตรฉบับจริง ให้ยื่นขอ up31 หรือติดต่อรับที่งานทะเบียนนิสิต) จำนวน 1 ฉบับ และ สำเนาใบTranscript จำนวน 1 ฉบับ 
  6. ใบแทนใบรับรองคุณวุฒิ เป็นเอกสารที่มหาวิทยาลัยออกให้แทนฉบับเดิม เนื่องจาก เอกสารเดิมสูญหาย หรือชำรุดจนใช้การไม่ได้ ลักษณะเหมือนใบรับรองคุณวุฒิทุกอย่างแต่ จะมีข้อความว่า "ใบแทน" การนำไปใช้เหมือนใบรับรองคุณวุฒิ โดยมีเอกสารประกอบการยื่นขอ ดังนี้ ใบแจ้งความเอกสารหายจากสถานีตำรวจ หรือ เอกสารฉบับที่ชำรุด จำนวน 1 ฉบับ 
  7. ใบแทนใบปริญญาบัตร เป็นเอกสารที่มหาวิทยาลัยออกให้แทนแทนฉบับเดิม เนื่องจาก เอกสารเดิมสูญหาย หรือชำรุดจนใช้การไม่ได้ ลักษณะเหมือนใบปริญญาบัตรทุกอย่างแต่ จะมีข้อความว่า "ใบแทน" การนำไปใช้เหมือนใบปริญญาบัตร โดยมีเอกสารประกอบการยื่นขอ ดังนี้ ใบแจ้งความเอกสารหายจากสถานีตำรวจ หรือ เอกสารฉบับที่ชำรุด จำนวน 1 ฉบับ

 

หมายเหตุ    1)  การยื่นคำร้องจะสมบูรณ์ นิสิตต้องชำระเงิน ภายใน 5 วันทำการ หลังจากยื่นคำร้องแล้ว โดยเจ้าหน้าที่จะได้ 

                        ดำเนินการออกเอกสารสำคัญให้กับนิสิตหลังจากชำระเงินและยื่นเอกสารแนบ (ถ้ามี) ครบเรียบร้อยแล้ว

                   2)  นิสิตต้องตรวจสอบคำร้องหลังยื่นแล้ว “จนกว่าคำร้องจะสิ้นสุด”

                                    3)   ศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วและลืมรหัสผ่าน สามารถใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนแทนรหัสผ่านในการเข้า

newspicture
การใช้งาน Git (Version Control System)

Git เป็นระบบควบคุมเวอร์ชัน (Version Control System หรือ VCS) ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อจัดการและติดตามการเปลี่ยนแปลงของไฟล์หรือโค้ดในระบบ Git ถูกพัฒนาขึ้นโดย Linus Torvalds (ผู้สร้าง Linux) ในปี ค.ศ. 2005 เพื่อช่วยรองรับการทำงานร่วมกันในระบบขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในกรณีที่มีผู้พัฒนาหลายคนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทำไมต้องใช้ Git?

       การเลือกใช้ Git มีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการพัฒนาและจัดการโครงการซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เนื่องจาก Git มีความสามารถในการจัดการและติดตามการเปลี่ยนแปลงของไฟล์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประโยชน์สำคัญของการใช้ Git สามารถสรุปได้ดังนี้:

          1.การติดตามการเปลี่ยนแปลง (Version Tracking): Git สามารถบันทึกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในไฟล์หรือโค้ดทุกครั้งที่มีการแก้ไข ทำให้ผู้พัฒนาสามารถย้อนกลับไปยังสถานะก่อนหน้าของไฟล์ได้ในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาด หรือหากต้องการดูประวัติการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาของโครงการ การติดตามเวอร์ชันนี้ยังช่วยให้การจัดการโครงการมีความโปร่งใสและสามารถติดตามความคืบหน้าได้ง่ายขึ้น

          2.การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ (Collaborative Development): ในโครงการที่มีผู้พัฒนาหลายคน การใช้ Git ช่วยให้ทุกคนสามารถทำงานพร้อมกันบนโค้ดเดียวกันได้โดยไม่เกิดการขัดแย้งของไฟล์ Git รองรับการสร้าง Branch (สาขา) เพื่อแยกการพัฒนาเป็นส่วนๆ และเมื่อแต่ละสาขาเสร็จสิ้นการพัฒนาแล้ว สามารถรวมเข้ากับสาขาหลัก (Master Branch) ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งช่วยลดปัญหาความขัดแย้งของโค้ดและช่วยให้การพัฒนาเป็นไปอย่างราบรื่น

          3.การสนับสนุนการทำงานแบบกระจาย (Distributed System): Git เป็นระบบควบคุมเวอร์ชันแบบกระจาย (Distributed Version Control System) ซึ่งหมายความว่าผู้พัฒนาแต่ละคนจะมีสำเนาของโครงการทั้งหมดในเครื่องของตนเอง ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างยืดหยุ่นและไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียข้อมูล เนื่องจากมีสำเนาของโครงการอยู่ในหลายๆ ที่

          4.การสนับสนุนการควบคุมการเข้าถึงและการรักษาความปลอดภัย (Access Control and Security): Git ช่วยให้ผู้พัฒนาสามารถกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงในระดับต่างๆ ได้ เช่น กำหนดให้บางคนสามารถดูโค้ดได้แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือกำหนดสิทธิ์ในการบันทึก (Commit) และการรวม (Merge) โค้ด ซึ่งช่วยป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ใช้หลายคนทำงานร่วมกันในโครงการเดียวกัน นอกจากนี้ การบันทึกการเปลี่ยนแปลงใน Git ยังสามารถติดตามได้ว่าการเปลี่ยนแปลงใดทำโดยใคร และเมื่อไหร่ ทำให้การตรวจสอบความถูกต้องและความปลอดภัยของโครงการง่ายขึ้น

          5.การสนับสนุนการทำงานกับแพลตฟอร์มออนไลน์ (Integration with Online Platforms): Git สามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น GitHub, GitLab และ Bitbucket ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยในการจัดเก็บ แชร์ และจัดการโครงการ Git บนอินเทอร์เน็ต การใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ช่วยให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังมีเครื่องมือเสริมที่ช่วยในการตรวจสอบคุณภาพของโค้ด (Code Review) และการทดสอบอัตโนมัติ (Continuous Integration/Continuous Deployment - CI/CD)

       การใช้ Git จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานพัฒนาซอฟต์แวร์สมัยใหม่ เนื่องจากช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความซับซ้อนในการจัดการโครงการ และเพิ่มความมั่นใจในการจัดการและการพัฒนาระบบ

 

ขั้นตอนการใช้งาน Git เบื้องต้น

        1. การติดตั้ง Git ก่อนเริ่มต้นใช้งาน Git ผู้ใช้จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรม Git บนคอมพิวเตอร์ของตน ซึ่งขั้นตอนการติดตั้งจะแตกต่างกันไปตามระบบปฏิบัติการที่ใช้งาน

             Windows:

      1.โปรดเข้าสู่เว็บไซต์ Git for Windows และดาวน์โหลดโปรแกรมติดตั้ง

      2.หลังจากดาวน์โหลดเสร็จสิ้น ให้ดำเนินการเปิดไฟล์ติดตั้ง (.exe) และปฏิบัติตามคำแนะนำที่ปรากฏบนหน้าจอ

      3.เมื่อการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ ผู้ใช้สามารถเปิดโปรแกรม Git Bash ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ติดตั้งมาพร้อมกับ Git เพื่อเริ่มต้นใช้งานได้ทันที

             macOS:

      1.เปิดโปรแกรม Terminal

      2.หากผู้ใช้ติดตั้ง Homebrew (โปรแกรมจัดการแพ็กเกจ) ไว้แล้ว สามารถใช้คำสั่ง brew install git เพื่อติดตั้ง Git

      3.หากไม่ได้ติดตั้ง Homebrew ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลด Git จาก เว็บไซต์ Git และดำเนินการติดตั้งตามคำแนะนำที่ปรากฏ

            Linux:

      1.เปิดโปรแกรม Terminal

      2.สำหรับผู้ใช้ Ubuntu สามารถติดตั้ง Git ด้วยคำสั่ง sudo apt-get install git และสำหรับ Fedora หรือ CentOS ใช้คำสั่ง sudo yum install git

      3.หลังการติดตั้งเสร็จสิ้น ผู้ใช้สามารถตรวจสอบเวอร์ชั่นของ Git ที่ติดตั้งได้โดยใช้คำสั่ง git –version

        2. การตั้งค่าผู้ใช้งานเบื้องต้น หลังจากติดตั้ง Git เสร็จสิ้น ผู้ใช้จะต้องตั้งค่าข้อมูลผู้ใช้งานเบื้องต้นเพื่อให้ระบบ Git รู้จักผู้ใช้งานและสามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้ดำเนินการบันทึก (commit) การเปลี่ยนแปลงต่างๆ (คำสั่งเหล่านี้จะทำให้ระบบ Git สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงในแต่ละ commit)

            การตั้งค่าชื่อผู้ใช้งาน:

                • ใช้คำสั่ง git config --global user.name "ชื่อของคุณ" เพื่อกำหนดชื่อผู้ใช้งาน

            การตั้งค่าอีเมลผู้ใช้งาน:

                • ใช้คำสั่ง git config --global user.email "อีเมลของคุณ" เพื่อกำหนดอีเมลผู้ใช้งาน 

        3. การเริ่มต้นใช้งาน Git ในโครงการใหม่  หลังจากตั้งค่าผู้ใช้งานเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้สามารถเริ่มต้นใช้งาน Git กับโครงการใหม่ได้:

            การสร้างโฟลเดอร์โครงการ:

      • ผู้ใช้ควรสร้างโฟลเดอร์ใหม่สำหรับเก็บไฟล์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยสามารถใช้โปรแกรมจัดการไฟล์หรือใช้คำสั่ง mkdir <ชื่อโฟลเดอร์> 

        ใน Terminal หรือ Command Line เพื่อสร้างโฟลเดอร์

            การสร้าง Git repository:

      • เปิด Terminal หรือ Command Line แล้วใช้คำสั่ง cd <ชื่อโฟลเดอร์> เพื่อเปลี่ยนไปยังโฟลเดอร์ที่สร้างขึ้น

      • ใช้คำสั่ง git init เพื่อเริ่มต้นสร้าง Git repository ในโฟลเดอร์นั้น ซึ่งจะทำให้ Git เริ่มติดตามการเปลี่ยนแปลงของไฟล์ในโฟลเดอร์นี้

        4. การเพิ่มไฟล์ลงใน Git  หลังจากสร้าง repository แล้ว Git จะยังไม่เริ่มติดตามไฟล์ใดๆ จนกว่าผู้ใช้จะบอกให้ Git ทราบ โดยการเพิ่มไฟล์ลงใน staging area ก่อน:

            การเพิ่มไฟล์เฉพาะเจาะจง:

                • ใช้คำสั่ง git add <ชื่อไฟล์> เพื่อบอกให้ Git เริ่มติดตามไฟล์เฉพาะที่ต้องการ

            การเพิ่มไฟล์ทั้งหมดในโฟลเดอร์ปัจจุบัน:

                • ใช้คำสั่ง git add . เพื่อเพิ่มไฟล์ทั้งหมดในโฟลเดอร์ปัจจุบันลงใน Git

        5. การบันทึกการเปลี่ยนแปลง (Commit) การ commit คือการบันทึกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในไฟล์ลงใน Git repository โดยที่ทุก commit จะมีข้อความบันทึกเพื่ออธิบายว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง:

            การบันทึกการเปลี่ยนแปลง:

                • ใช้คำสั่ง git commit -m "ข้อความบันทึก" เพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงใน staging area ลงใน repository พร้อมข้อความที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงนั้น

        6. การตรวจสอบสถานะของไฟล์ ผู้ใช้สามารถตรวจสอบสถานะของไฟล์ใน Git repository ได้ด้วยคำสั่ง git status ซึ่งจะแสดงข้อมูลว่าไฟล์ใดถูกแก้ไข แต่ยังไม่ได้ถูกเพิ่มหรือบันทึก:

            การตรวจสอบสถานะของไฟล์:

                • ใช้คำสั่ง git status เพื่อดูว่าไฟล์ใดที่ถูกแก้ไขแต่ยังไม่ได้ถูกเพิ่มลงใน staging area หรือไฟล์ใดที่อยู่ใน staging area แต่ยังไม่ได้ถูก commit

        7. การดูประวัติการเปลี่ยนแปลง ผู้ใช้สามารถดูประวัติการเปลี่ยนแปลงในโครงการได้ด้วยคำสั่ง git log ซึ่งจะแสดงรายการ commit ทั้งหมดที่เคยทำใน Git repository:

            การดูประวัติการเปลี่ยนแปลง:

                • ใช้คำสั่ง git log เพื่อดูประวัติของ commit ที่เคยทำ รวมถึงรายละเอียดของแต่ละ commit เช่น หมายเลข commit ผู้ที่ทำการ commit วันที่ และข้อความ

                   บันทึก

        8. การสร้างและจัดการ Branch Branch เป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถแยกการทำงานออกจากโค้ดหลัก (main branch) เพื่อทำการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่หรือทำการทดลองการพัฒนาใหม่ๆ โดยไม่กระทบต่อโค้ดหลัก:

            การสร้าง Branch ใหม่:

                • ใช้คำสั่ง git branch <ชื่อ branch> เพื่อสร้าง branch ใหม่

            การสลับไปยัง Branch ใหม่:

                • ใช้คำสั่ง git checkout <ชื่อ branch> เพื่อเปลี่ยนไปยัง branch ใหม่ที่สร้างขึ้น

            การสร้างและสลับไปยัง Branch ใหม่ทันที:

                • ใช้คำสั่ง git checkout -b <ชื่อ branch> เพื่อสร้าง branch ใหม่และสลับไปยัง branch นั้นในขั้นตอนเดียว

        9. การรวม Branch (Merge) เมื่อทำงานใน branch หนึ่งเสร็จสิ้นและต้องการรวมการเปลี่ยนแปลงเข้ากับโค้ดหลัก ผู้ใช้สามารถทำการ merge branch นั้นกลับไปยัง branch หลักได้:

            การรวม Branch:

                • ใช้คำสั่ง git merge <ชื่อ branch> เพื่อรวมการเปลี่ยนแปลงจาก branch ที่ต้องการเข้ากับ branch ปัจจุบัน

            การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของโค้ด (Merge Conflicts):

                • ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่าง branch ผู้ใช้ต้องเปิดไฟล์ที่มีปัญหาและแก้ไขความขัดแย้งด้วยตนเอง จากนั้นใช้คำสั่ง git add และ git commit เพื่อบันทึก

                   การแก้ไขและการรวม branch

        10. การเชื่อมต่อกับ Remote Repository หากผู้ใช้ต้องการเก็บโค้ดของตนบนเซิร์ฟเวอร์ออนไลน์หรือทำงานร่วมกับผู้อื่น ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกับ remote repository บนแพลตฟอร์มเช่น GitHub, GitLab หรือ Bitbucket:

             การเพิ่ม Remote Repository:

                • ใช้คำสั่ง git remote add origin เพื่อเชื่อมต่อ Git repository บนเครื่องของผู้ใช้กับ remote repository บนเซิร์ฟเวอร์

             การส่งการเปลี่ยนแปลงไปยัง Remote Repository:

                • ใช้คำสั่ง git push -u origin <ชื่อ branch> เพื่อส่งการเปลี่ยนแปลงจาก branch ที่กำลังทำงานอยู่ไปยัง remote repository

        11. การดึงการเปลี่ยนแปลงจาก Remote Repository เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใน remote repository ผู้ใช้สามารถดึงการเปลี่ยนแปลงนั้นมายัง local repository ของตนเพื่อให้โค้ดเป็นปัจจุบัน:

              การดึงการเปลี่ยนแปลง:

                • ใช้คำสั่ง git pull เพื่อดึงการเปลี่ยนแปลงจาก remote repository มายัง branch ปัจจุบันใน local repository ของผู้ใช้

 

คำสั่งพื้นฐานในการใช้งาน Git

git init: สร้าง Git repository ใหม่ในโฟลเดอร์ปัจจุบัน

git clone : คัดลอก Git repository จาก URL ที่ระบุ

git add <ชื่อไฟล์>: เพิ่มไฟล์ลงใน staging area

git commit -m "ข้อความบันทึก": บันทึกการเปลี่ยนแปลงที่ staging area ลงใน Git

git status: แสดงสถานะของไฟล์ใน repository

git log: แสดงประวัติการบันทึกการเปลี่ยนแปลง

git branch: แสดงรายการ Branch ทั้งหมดใน repository

git checkout <ชื่อ branch>: สลับไปยัง Branch ที่ระบุ

git merge <ชื่อ branch>: รวม Branch ที่ระบุเข้ากับ Branch ปัจจุบัน

git push: ส่งการเปลี่ยนแปลงไปยัง remote repository (เช่น GitHub)

git pull: ดึงการเปลี่ยนแปลงจาก remote repository มายัง local repository

 

Git เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญและทรงพลังในการจัดการโครงสร้างระบบ โดยเฉพาะในโครงสร้างระบบที่มีผู้พัฒนาหลายคน การเรียนรู้และฝึกฝนการใช้งาน Git จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาและจัดการโครงสร้างระบบได้เป็นอย่างมาก

newspicture
สหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน

สหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน

(Cooperative and Work Integrated Education : CWIE)

ความเป็นมาของสหกิจศึกษา

             คำว่า “สหกิจศึกษา” (Cooperative Education) เป็นศัพท์บัญญัติที่ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่นำระบบสหกิจศึกษาเข้ามาใช้ในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้บัญญัติขึ้นโดยถอดความจากคำว่า Cooperative Education มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้จัดการศึกษาระบบไตรภาคเพื่อรองรับการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาสองครั้ง คือ ชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 มีภาคสหกิจศึกษาสลับกับภาคเรียนปกติ โดยนิสิตได้เริ่มไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2538 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยยุคแรกเช่นกันที่จัดสหกิจศึกษา โดยเริ่ม ในปี พ.ศ. 2541 จากแนวคิดดังกล่าวได้ขยายไปสู่มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนอย่างกว้างขว้าง เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้จัดสหกิจศึกษาเป็นสามช่วงระยะเวลา คือ 4-2-4 เดือน รวม 10 เดือน โดยจัดในชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 ทำให้ระยะเวลาเรียนในหลักสูตรสหกิจศึกษามากกว่าหลักสูตรปกติหนึ่งปีการศึกษา โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นสถานศึกษาเริ่มแรกที่ริเริ่มสหกิจศึกษาในประเทศไทย

             ในปี พ.ศ. 2545 รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น (นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ) ได้ประกาศนโยบายให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่สถาบันการศึกษาที่จัดสหกิจศึกษาโดยได้จัดสรรเงินอุดหนุนเป็นรายหัวให้แก่สถาบันการศึกษา 17 แห่ง ที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรสหกิจศึกษา และให้ใช้หลักสูตรสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นต้นแบบ จากนั้น สหกิจศึกษาได้ขยายสู่ระดับชาติโดยรัฐบาลได้ก้าวเข้ามาสนับสนุนผ่านทางทบวงมหาวิทยาลัยและสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นภาคีสำคัญของภาครัฐ

             การดำเนินงานสหกิจศึกษาในช่วงเริ่มต้นอยู่ในรูปแบบของทวิภาคี คือ สถานศึกษาร่วมมือกับสถานประกอบการ โดยภาครัฐมิได้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง หากแต่มีหน่วยงานภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าไทยที่ได้สนับสนุนสหกิจศึกษา ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในระยะเริ่มต้น การดำเนินสหกิจศึกษาได้พัฒนาเข้าสู่ลักษณะพหุภาคีเมื่อปี พ.ศ. 2545 กล่าวคือ มีหน่วยงานหลายภาคส่วนได้ร่วมกันรับผิดชอบดำเนินงานสหกิจศึกษา ได้แก่ สถานศึกษา สถานประกอบการ หน่วยงานของรัฐ คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ทำหน้าที่ดูแลนโยบายและให้การสนับสนุนด้านการเงิน องค์กรเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมวิชาการในประเทศไทย ได้แก่ สมาคมสหกิจศึกษาไทย (Thai Association for Cooperative Education: TACE) และสมาคมวิชาการระดับนานาชาติ ได้แก่ สมาคมสหกิจศึกษาโลก (World Association for Cooperative Education: WACE) นับว่าการจัดการศึกษาสหกิจศึกษาของประเทศ ในปัจจุบันมีภาคีต่างๆ เข้ามามีบทบาทครบทุกภาคส่วนในลักษณะเครือข่ายพหุภาคี

ความสำคัญและประโยชน์ของสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน

             การจัด CWIE ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทำให้การจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ได้รับการยอมรับและทวีความสำคัญมากขึ้นมีสถาบันอุดมศึกษาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ใช้ CWIE เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาระดับปริญญากว้างขวางขึ้นในเกือบจะทุก สาขาวิชา โดยมีเป้าประสงค์ตรงกัน คือ “การเสริมคุณภาพบัณฑิต” ผ่านประสบการณ์การทำงานในสถานประกอบการทั้งของรัฐ เอกชน ชุมชน และท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตตามมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ ตรงตามความต้องการองค์กรผู้ใช้บัณฑิตและตลาดแรงงาน ถือเป็น ส่วนสำคัญของการสร้างบัณฑิตให้พร้อมที่จะเลือกวิชาชีพและเข้าสู่ระบบการทำงานได้ทันทีที่จบ การศึกษา ทำให้บัณฑิต CWIE มีทั้ง “วิชาชีพ และ วิชาชีวิต” ที่ช่วยให้บัณฑิต “รู้จักตน รู้จักคน รู้จัก งาน” จากประสบการณ์ทำงานจริงโดยทุกฝ่ายที่ร่วมจัดต่างได้รับประโยชน์เท่าที่ประมวลได้จากการดำเนินงาน CWIE ในประเทศไทยในสองทศวรรษที่ผ่านมาได้ดังต่อไปนี้ 
      ใครได้ประโยชน์จากสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ประมวลได้จากผลการดำเนินงานสหกิจศึกษา ฯ ในประเทศไทยของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ดังต่อไปนี้ 
นิสิต
1.1ได้ประสบการณ์วิชาชีพตรงตามสาขาวิชาที่เลือกเรียน
1.2 มีผลการเรียนหลังการปฏิบัติ CWIE ดีขึ้น
1.3 เกิดการพัฒนาตนเอง มั่นใจในตนเองมากขึ้น
1.4 เกิดทักษะการสื่อสาร รายงานข้อมูล
1.5 มีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนสำเร็จการศึกษา
1.6 เลือกสายงานอาชีพได้ถูกต้อง
1.7ได้รับค่าตอบแทนขณะศึกษา
1.8 เป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพและความพร้อมในการทำงานสูง 
 สถาบันการศึกษา
2.1 เกิดความร่วมมือทางวิชาการและความสัมพันธ์อันดีกับสถานประกอบการ
2.2 ได้ข้อมูลย้อนกลับมาปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอน
2.3 ช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาได้รับการยอมรับจากตลาดแรงงาน
2.4 เป็นกระบวนการหนึ่งในการพัฒนาคณาจารย์ให้สามารถนำประสบการณ์
2.5 การนิเทศและการปฏิบัติงานกับสถานประกอบการมาพัฒนาการเรียน
2.6 การสอนและต่อยอดภารกิจด้านการวิจัยและบริการทางวิชาการ 
สถานประกอบการ
3.1 มีนักศึกษาช่วยปฏิบัติงานตลอดปี
3.2 พนักงานประจำมีเวลาที่จะทำงานสำคัญได้มากขึ้น
3.3 ใช้เป็นวิธีคัดเลือกพนักงานได้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น ทำให้ได้แรงงานที่มี
3.4 สมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการ 
3.5 มีโอกาสสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันอุดมศึกษาด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 
3.6 เกิดภาพพจน์และผลกระทบที่ดีด้านการส่งเสริมการอุดมศึกษา

บทบาทหน้าที่ของนิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน 
1.นิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด จะต้องเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมนิสิตสหกิจศึกษา ก่อนไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน โดยมีเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง ประกอบด้วยกิจกรรมของมหาวิทยาลัย 12 ชั่วโมง และกิจกรรมของคณะ/วิทยาลัย 18 ชั่วโมง 
2. นิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานต้องบันทึกรายงานการปฏิบัติงานประจำวันหรือสัปดาห์ 
3. นิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ต้องกรอกข้อมูลและจัดส่งข้อมูลสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานกลับมายังมหาวิทยาลัยพะเยาภายในระยะเวลาที่กำหนด 
4. นิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ต้องส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้อาจารย์นิเทศและพนักงานที่ปรึกษาก่อนเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานและต้องแก้ไขตามที่อาจารย์นิเทศแนะนำให้เรียบร้อย 
5. นิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ต้องส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่ ได้จากสถานประกอบการให้อาจารย์นิเทศและพนักงานที่ปรึกษา 
6. สัปดาห์สุดท้ายของการปฏิบัติสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานควรนำเสนอผลการปฏิบัติงานต่อพนักงานที่ปรึกษาและผู้บริหารสถานประกอบการ 
7. นิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ต้องนำเสนอผลการปฏิบัติสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ในการสัมมนาสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ระหว่างอาจารย์นิเทศ และนิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานของแต่ละกลักสูตรหลังกลับจากการปฏิบัติการสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน

คุณสมบัติของนิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน
คณะ/วิทยาลัย จะเป็นผู้คัดเลือกนิสิตที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นนิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน 
1. มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยผิดระเบียบวินัยนิสิต โดยคณะ/วิทยาลัย เป็นผู้รับรอง 
2. มีวุฒิภาวะและการพัฒนาตนเองได้ดีเพียงพอที่จะปฏิบัติงานได้ในสถานประกอบการ 
3. มีความรู้ทางวิชาการดี และมีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 2.00 
4. จะต้องสอบผ่านรายวิชาพื้นฐานที่คณะกำหนด 
5. ปฏิบัติตามเงื่อนไขและกระบวนการสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานอย่างครบถ้วน 
6. เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะและสาขาวิชาเป็นผู้กำหนด 
แนวทางการป้องกันระหว่างปฏิบัติสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน 
ระหว่างปฏิบัติสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หากสถานที่ปฏิบัติสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือสถานประกอบการมีการปฏิบัติงานเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด ปฏิบัติงานอันตรายและต้องห้าม ไม่คำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจ จนถึงก่อให้เกิดทุพพลภาพ รวมไปถึงการถูกเอาเปรียบด้านค่าตอบแทน ตลอดจนถึงการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ให้นิสิตที่ปฏิบัติสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน แจ้งอาจารย์ปรึกษาสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา

Thumb Thumb Thumb Thumb