banner
รายละเอียด
"กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา"
คลังความรู้

สหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน
26 เมษายน พ.ศ. 2567

: 1066

NewsGallery

สหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน

(Cooperative and Work Integrated Education : CWIE)

ความเป็นมาของสหกิจศึกษา

             คำว่า “สหกิจศึกษา” (Cooperative Education) เป็นศัพท์บัญญัติที่ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่นำระบบสหกิจศึกษาเข้ามาใช้ในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้บัญญัติขึ้นโดยถอดความจากคำว่า Cooperative Education มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้จัดการศึกษาระบบไตรภาคเพื่อรองรับการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาสองครั้ง คือ ชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 มีภาคสหกิจศึกษาสลับกับภาคเรียนปกติ โดยนิสิตได้เริ่มไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2538 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยยุคแรกเช่นกันที่จัดสหกิจศึกษา โดยเริ่ม ในปี พ.ศ. 2541 จากแนวคิดดังกล่าวได้ขยายไปสู่มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนอย่างกว้างขว้าง เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้จัดสหกิจศึกษาเป็นสามช่วงระยะเวลา คือ 4-2-4 เดือน รวม 10 เดือน โดยจัดในชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 ทำให้ระยะเวลาเรียนในหลักสูตรสหกิจศึกษามากกว่าหลักสูตรปกติหนึ่งปีการศึกษา โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นสถานศึกษาเริ่มแรกที่ริเริ่มสหกิจศึกษาในประเทศไทย

             ในปี พ.ศ. 2545 รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น (นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ) ได้ประกาศนโยบายให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่สถาบันการศึกษาที่จัดสหกิจศึกษาโดยได้จัดสรรเงินอุดหนุนเป็นรายหัวให้แก่สถาบันการศึกษา 17 แห่ง ที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรสหกิจศึกษา และให้ใช้หลักสูตรสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นต้นแบบ จากนั้น สหกิจศึกษาได้ขยายสู่ระดับชาติโดยรัฐบาลได้ก้าวเข้ามาสนับสนุนผ่านทางทบวงมหาวิทยาลัยและสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นภาคีสำคัญของภาครัฐ

             การดำเนินงานสหกิจศึกษาในช่วงเริ่มต้นอยู่ในรูปแบบของทวิภาคี คือ สถานศึกษาร่วมมือกับสถานประกอบการ โดยภาครัฐมิได้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง หากแต่มีหน่วยงานภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าไทยที่ได้สนับสนุนสหกิจศึกษา ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในระยะเริ่มต้น การดำเนินสหกิจศึกษาได้พัฒนาเข้าสู่ลักษณะพหุภาคีเมื่อปี พ.ศ. 2545 กล่าวคือ มีหน่วยงานหลายภาคส่วนได้ร่วมกันรับผิดชอบดำเนินงานสหกิจศึกษา ได้แก่ สถานศึกษา สถานประกอบการ หน่วยงานของรัฐ คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ทำหน้าที่ดูแลนโยบายและให้การสนับสนุนด้านการเงิน องค์กรเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมวิชาการในประเทศไทย ได้แก่ สมาคมสหกิจศึกษาไทย (Thai Association for Cooperative Education: TACE) และสมาคมวิชาการระดับนานาชาติ ได้แก่ สมาคมสหกิจศึกษาโลก (World Association for Cooperative Education: WACE) นับว่าการจัดการศึกษาสหกิจศึกษาของประเทศ ในปัจจุบันมีภาคีต่างๆ เข้ามามีบทบาทครบทุกภาคส่วนในลักษณะเครือข่ายพหุภาคี

ความสำคัญและประโยชน์ของสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน

             การจัด CWIE ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทำให้การจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ได้รับการยอมรับและทวีความสำคัญมากขึ้นมีสถาบันอุดมศึกษาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ใช้ CWIE เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาระดับปริญญากว้างขวางขึ้นในเกือบจะทุก สาขาวิชา โดยมีเป้าประสงค์ตรงกัน คือ “การเสริมคุณภาพบัณฑิต” ผ่านประสบการณ์การทำงานในสถานประกอบการทั้งของรัฐ เอกชน ชุมชน และท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตตามมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ ตรงตามความต้องการองค์กรผู้ใช้บัณฑิตและตลาดแรงงาน ถือเป็น ส่วนสำคัญของการสร้างบัณฑิตให้พร้อมที่จะเลือกวิชาชีพและเข้าสู่ระบบการทำงานได้ทันทีที่จบ การศึกษา ทำให้บัณฑิต CWIE มีทั้ง “วิชาชีพ และ วิชาชีวิต” ที่ช่วยให้บัณฑิต “รู้จักตน รู้จักคน รู้จัก งาน” จากประสบการณ์ทำงานจริงโดยทุกฝ่ายที่ร่วมจัดต่างได้รับประโยชน์เท่าที่ประมวลได้จากการดำเนินงาน CWIE ในประเทศไทยในสองทศวรรษที่ผ่านมาได้ดังต่อไปนี้ 
      ใครได้ประโยชน์จากสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ประมวลได้จากผลการดำเนินงานสหกิจศึกษา ฯ ในประเทศไทยของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ดังต่อไปนี้ 
นิสิต
1.1ได้ประสบการณ์วิชาชีพตรงตามสาขาวิชาที่เลือกเรียน
1.2 มีผลการเรียนหลังการปฏิบัติ CWIE ดีขึ้น
1.3 เกิดการพัฒนาตนเอง มั่นใจในตนเองมากขึ้น
1.4 เกิดทักษะการสื่อสาร รายงานข้อมูล
1.5 มีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนสำเร็จการศึกษา
1.6 เลือกสายงานอาชีพได้ถูกต้อง
1.7ได้รับค่าตอบแทนขณะศึกษา
1.8 เป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพและความพร้อมในการทำงานสูง 
 สถาบันการศึกษา
2.1 เกิดความร่วมมือทางวิชาการและความสัมพันธ์อันดีกับสถานประกอบการ
2.2 ได้ข้อมูลย้อนกลับมาปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอน
2.3 ช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาได้รับการยอมรับจากตลาดแรงงาน
2.4 เป็นกระบวนการหนึ่งในการพัฒนาคณาจารย์ให้สามารถนำประสบการณ์
2.5 การนิเทศและการปฏิบัติงานกับสถานประกอบการมาพัฒนาการเรียน
2.6 การสอนและต่อยอดภารกิจด้านการวิจัยและบริการทางวิชาการ 
สถานประกอบการ
3.1 มีนักศึกษาช่วยปฏิบัติงานตลอดปี
3.2 พนักงานประจำมีเวลาที่จะทำงานสำคัญได้มากขึ้น
3.3 ใช้เป็นวิธีคัดเลือกพนักงานได้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น ทำให้ได้แรงงานที่มี
3.4 สมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการ 
3.5 มีโอกาสสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันอุดมศึกษาด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 
3.6 เกิดภาพพจน์และผลกระทบที่ดีด้านการส่งเสริมการอุดมศึกษา

บทบาทหน้าที่ของนิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน 
1.นิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด จะต้องเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมนิสิตสหกิจศึกษา ก่อนไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน โดยมีเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง ประกอบด้วยกิจกรรมของมหาวิทยาลัย 12 ชั่วโมง และกิจกรรมของคณะ/วิทยาลัย 18 ชั่วโมง 
2. นิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานต้องบันทึกรายงานการปฏิบัติงานประจำวันหรือสัปดาห์ 
3. นิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ต้องกรอกข้อมูลและจัดส่งข้อมูลสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานกลับมายังมหาวิทยาลัยพะเยาภายในระยะเวลาที่กำหนด 
4. นิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ต้องส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้อาจารย์นิเทศและพนักงานที่ปรึกษาก่อนเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานและต้องแก้ไขตามที่อาจารย์นิเทศแนะนำให้เรียบร้อย 
5. นิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ต้องส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่ ได้จากสถานประกอบการให้อาจารย์นิเทศและพนักงานที่ปรึกษา 
6. สัปดาห์สุดท้ายของการปฏิบัติสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานควรนำเสนอผลการปฏิบัติงานต่อพนักงานที่ปรึกษาและผู้บริหารสถานประกอบการ 
7. นิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ต้องนำเสนอผลการปฏิบัติสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ในการสัมมนาสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ระหว่างอาจารย์นิเทศ และนิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานของแต่ละกลักสูตรหลังกลับจากการปฏิบัติการสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน

คุณสมบัติของนิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน
คณะ/วิทยาลัย จะเป็นผู้คัดเลือกนิสิตที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นนิสิตสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน 
1. มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยผิดระเบียบวินัยนิสิต โดยคณะ/วิทยาลัย เป็นผู้รับรอง 
2. มีวุฒิภาวะและการพัฒนาตนเองได้ดีเพียงพอที่จะปฏิบัติงานได้ในสถานประกอบการ 
3. มีความรู้ทางวิชาการดี และมีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 2.00 
4. จะต้องสอบผ่านรายวิชาพื้นฐานที่คณะกำหนด 
5. ปฏิบัติตามเงื่อนไขและกระบวนการสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานอย่างครบถ้วน 
6. เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะและสาขาวิชาเป็นผู้กำหนด 
แนวทางการป้องกันระหว่างปฏิบัติสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน 
ระหว่างปฏิบัติสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หากสถานที่ปฏิบัติสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือสถานประกอบการมีการปฏิบัติงานเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด ปฏิบัติงานอันตรายและต้องห้าม ไม่คำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจ จนถึงก่อให้เกิดทุพพลภาพ รวมไปถึงการถูกเอาเปรียบด้านค่าตอบแทน ตลอดจนถึงการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ให้นิสิตที่ปฏิบัติสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน แจ้งอาจารย์ปรึกษาสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา


SDGs ที่เกี่ยวข้อง
  • Thumb Thumb Thumb Thumb

แกเลอรี่