banner
รายละเอียด
"กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา"
คลังความรู้

ความเป็นมาและลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา
9 กันยายน พ.ศ. 2567

: 1609

NewsGallery

ความเป็นมาและลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา

          การทำความเข้าใจที่มาที่ไปและคุณลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพ จะสามารถทำให้อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาตระหนักและเห็นความสำคัญความเป็นครูในโลกศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนแปลงได้ และนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในการเขียนใบสมัคร UP-PSF1 ต่อไป  ในบทนี้ จึงขออธิบายเนื้อหาที่ประกอบด้วย 1) ความเป็นมาของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพ และ 2) ลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา

ความเป็นมา

          สถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกกําลังให้ความสนใจการพัฒนาอาจารย์ให้เป็นมืออาชีพทั้งด้านการวิจัย การพัฒนาหลักสูตรและการจัดเรียนการสอน นั่นคือเป็นการพัฒนาบทบาทของอาจารย์ให้มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถที่จําเป็นต่อการเรียนรูู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ให้มีความสามารถในการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและในระดับสากล และเพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

          การริเริ่มเกิดขึ้นจากสถาบันการอุดมศึกษาของอังกฤษ (The higher Education Academy: HEA) ได้การพัฒนากรอบมาตรฐานวิชาชีพดำเนินการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ (UK Professional standards framework: UKPSF) โดยก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระระดับชาติในสหราชอาณาจักรได้จัดทำกรอบมาตรฐานวิชาชีพระดับอุดมศึกษา United Kingdom Professional Standard Framework (UHPSF) เพื่อประเมินและรับรองหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพการสอนของคณาจารย์ และใน พ.ศ. 2560 HEA ได้ควบรวมกับ Equality Challenge Unit และ Leadership Foundation for Higher Education และเปลี่ยนชื่อเป็น Advance HE และร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก เพื่อจัดฝึกอบรมและประเมินคุณภาพการสอนและการกำหนดวิทยฐานะของผู้ผ่านการประเมิน (Descriptors) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ โดยต้องการให้อาจารย์มีความเป็นนักวิชาการ มีึความเป็นครูและมีความเป็นมนุษย์

         นอกจากที่ประเทศอังกฤษแล้วที่มี HE Academy (UK) – UKPSF ก็ยังมีแนวคิดมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพจากประเทศต่าง ๆ เช่น  Regional Pedagogical Centres for HE, Australian Professional Standards for teacher, Australian University Teaching, Criteria and Standard Framework และ National Board for Professional Teaching Standards[1] ซึ่งมีกำหนดกรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพเช่นกัน โดยมีลักษณะร่วมที่คล้ายคลึงกันแต่นำมาประยุกต์และกำหนดใช่้ในบริบทที่แตกต่างของประเทศและมหาวิทยาลัยของตนเอง

         ใน พ.ศ. 2558 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับสหภาพยุโรป (EU) ในโครงการ “TQF and the Development of Professional Standards Framework” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเป็นมืออาชีพของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านศาสตร์ในสาขา ด้านการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และทัศนคติที่ดีงามในความเป็นอาจารย์มืออาชีพ จนในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจัดทำกรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพที่เป็นกรอบกลางเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาที่สนใจได้มีแนวทางในการพัฒนากรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพตามบริบทของตนเองด้วยความสมัครใจ[2]

         มาตรฐานวิชาชีพของอาจารย์มืออาชีพ (PSF) สามารถนำมาใช้เป็นกรอบมาตรฐานการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ  ได้ เนื่องจากเป็นสากลและประยุกต์ใช้ในหลายประเทศได้ผลดี สอดคล้องกับวิธีการสอนจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่นำ PSF ของประเทศต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT-PSF) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT-PSF) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU-TPSF)  มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (SDUPSF) มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU-PSF) และมหาวิทยาลัยพะเยา (UP-PSF)

           จากที่มาและความสำคัญข้างต้น มหาวิทยาลัยพะเยาจึงมีประกาศเรื่อง มาตรฐานอาจารย์มืออาชีพ มหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของอาจารย์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนั่นนับว่า มหาวิทยาลัยพะเยาให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนและมุ่งพัฒนาให้อาจารย์มีความเป็นมืออาชีพในการเรียนการสอนที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยพะเยาไปสู่สถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับตามมาตรฐานยิ่งขึ้น

 

[1] โปรดดูรายละเอียดใน วิจิตร ศรีสอ้าน. (สื่อนำเสนอ).ความก้าวหน้าของวิชาชีพอาจารย์และแนวทางการพัฒนากรอบมาตรฐานวิชาชีพด้านการสอนของ มทส.., วิจิตร ศรีสอ้าน. (สื่อนำเสนอ). แนวทางการพัฒนาอาจารย์ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ UKPSF ในประเทศไทย. และ สุวมาลย์ ม่วงประเสริฐ. (สื่อนำเสนอ). กรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพด้านการสอน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต. คณะกรรมการพัฒนากรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต.

[2] สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา. (2561). แนวทางการส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.

 

ลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา

การส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะและประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน จำนวน 3 องค์ประกอบ ดังนี้

1. องค์ความรู้ (Knowledge)-KNOW (knowledge)

1.1 ความรู้ในศาสตร์สาขาของตน

1.2 ความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้

2.  สมรรถนะการจัดการเรียนรู้ (Professional competencies)-DO (activities)

    2.1 ออกแบบและวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน

    2.2 ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    2.3 เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน

    2.4 วัดประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน พร้อมทั้งสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์

3.  คุณค่าของอาจารย์ (Professional values)-BE (values)

    3.1 คุณค่าในการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

    3.2 ธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอาจารย์

        คุณภาพการจัดการเรียนการสอนในแต่ละองค์ประกอบข้างต้น กำหนดให้มีระดับของคุณภาพของแต่ละองค์ประกอบ จำนวน 4 ระดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของอาจารย์ด้านการจัดการเรียนการสอน โดยใน 4 ระดับ มีดังนี้

       ระดับที่ 1 เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของตนและประยุกต์ใช้ได้ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้เบื้องต้น สามารถออกแบบกิจกรรม จัดบรรยากาศ ใช้ทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงผู้เรียนและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ สามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน นำผลประเมินมาใช้ปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์ขององค์กร

     ระดับที่ 2 เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนการสอนระดับที่ 1 ที่มีความรู้ลึกในศาสตร์ของตน และติดตามความก้าวหน้าของความรู้ในศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้ สามารถจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน กำกับดูแลและติดตามผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่เพื่อนอาจารย์ในศาสตร์ได้ และส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์ภายในองค์กร

     ระดับที่ 3 เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนการสอนระดับที่ 2 ที่เชี่ยวชาญ ในศาสตร์ของตน ศาสตร์การเรียนรู้ และการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ นำผลการวิจัยในชั้นเรียนมาพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เป็นพี่เลี้ยงและผู้ชี้แนะในระดับองค์กรด้านการจัดการเรียนรู้และนโยบายด้านจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์

     ระดับที่ 4 เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนการสอนระดับที่ 3 ที่เป็นผู้นำในศาสตร์ของตน ศาสตร์การเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาองค์ความรู้ และการจัดการเรียนรู้ในระดับชาติและนานาชาติ เป็นผู้นำเชิงนโยบายด้านจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์

 


 


SDGs ที่เกี่ยวข้อง
  • Thumb

แกเลอรี่