banner
หน้าหลัก
ข่าว ความเคลื่อนไหว และ คลังความรู้
ข่าว ความเคลื่อนไหว และ คลังความรู้
"กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา"
หมวดหมู่
SDGs ยอดนิยม
newspicture
กองบริการการศึกษา จัดโครงการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ 2567 และจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี 2568

                  วันพุธที่ 18 กันยายน 2567 กองบริการการศึกษา จัดโครงการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ 2567 และจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี 2568 โดยมี  ผู้ช่วยอธิการบดี ผศ.ดร. วัชระ แลน้อย กล่าวเปิดโครงการ จากนั้นเป็นการรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ และแผนยุทธศาสตร์ กองบริการการศึกษา โดย หัวหน้างานธุรการ นางวรรณนิสา คำสนาม  และการทบทวนแผนยุทธศาสตร์ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ และแผนยุทธศาสตร์ กองบริการการศึกษา ประจำปี 2568 โดยผู้อำนวยการกองบริการการศึกษา นางสาวกัลวรา ภูมิลา การจัดโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปผลการดำเนินงาน ตามแผนปฏิบัติการและแผนยุทธศาสตร์ กองบริการการศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2567 และทบทวนแผนยุทธศาสตร์ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ และแผนยุทธศาสตร์ กองบริการการศึกษา ประจำปี 2568  โดยผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการ และบุคลากรกองบริการการศึกษา รวมจำนวนทั้งสิ้น 55 คน  ณ ห้องประชุม ชูชาติ กีฬาแปง อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา

 

Thumb Thumb
newspicture
มหาวิทยาลัยพะเยา ต้อนรับ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย

เมื่อวันพุธที่ 18 กันยายน 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติมา กาวีระ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชระ แลน้อย ผู้ช่วยอธิการบดี ดร.จารุกัญญ์ จิตรวงศ์นันท์ ประธานหลักสูตรสาขาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ และ นางสาวกัลวรา ภูมิลา ผู้อำนวยการกองบริการการศึกษา ให้การต้อนรับ Dr. Ludovic ANDRES ตำแหน่ง Attaché for Scientic and Higher Education Cooperation Ms. Roxanc POITOU ตำแหน่ง Head of Campus France Thailand, French Embassy Ms. Sujira PANYAWATTANA, Student Advisor-Campus France, French Embassy และ Mr.Johan BROC ตำแหน่ง Cooperation Officer for Science and Higher Education สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย โดยศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศฝรั่งเศส ในโอกาสมาเยือนมหาวิทยาลัยพะเยา ณ ห้องประชุมห้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ชั้น 2 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา

โดย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย โดยศูนย์แนะแนวศึกษาต่อประเทศฝรั่งเศส ได้จัดบรรยายพิเศษในกิจกรรม Campus France Tour 2024  ใน  2 หัวข้อ คือ

  1. Studies in France and Scholarships สำหรับนิสิต
  2. Fellowship and Mobility Programs สำหรับคณาจารย์และนักวิจัย

เพื่อแนะนำแนวทางการศึกษาต่อในประเทศฝรั่งเศสโดยทุนรัฐบาลประเทศฝรั่งเศส สำหรับนิสิต คณาจารย์ และนักวิจัย ผู้สนใจไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายครั้งนี้ จำนวน 70 คน ณ ห้อง Active Learning CE07102 อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยพะเยา

Thumb Thumb Thumb
newspicture
TCAS คืออะไร? มารู้จักกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

TCAS คืออะไร?

TCAS (Thai University Center Admission System) คือระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศไทย ดำเนินการโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งหลายคนคงจะเข้าใจว่ามันคือระบบ เอนทรานซ์ หรือ Admission หรือเปล่า? ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่ทั้งเอนทรานซ์และ Admission เหมือนสมัยก่อนแต่ TCAS นั้นจะเป็นระบบใหญ่ที่รวมการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกรูปแบบโดยเฉพาะภาคภาษาไทยเข้าไว้เป็นศูนย์กลางของการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อนั่นเอง

ความสำคัญของระบบ TCAS

ระบบ TCAS ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มความยุติธรรมและลดความกดดันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยนักเรียนสามารถวางแผนการสมัครและการเตรียมตัวได้ดีขึ้น การมีหลายรอบการสมัครช่วยให้นักเรียนมีโอกาสในการเลือกคณะที่เหมาะสมกับตนเองมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความซ้ำซ้อนในการยื่นคะแนนและเพิ่มโอกาสในการได้รับคณะที่ต้องการ

TCAS มีกี่รอบ?

ระบบ TCAS แบ่งการรับสมัครนักเรียนออกเป็น 4 รอบหลัก ซึ่งแต่ละรอบมีลักษณะและความสำคัญแตกต่างกันไป ดังนี้:

รอบที่ 1: พอร์ตฟอลิโอ (Portfolio)

เป็นรอบที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีผลงานหรือความสามารถพิเศษในการสมัครเข้าศึกษาต่อ โดยไม่ต้องใช้คะแนนสอบ โดยนักเรียนจะต้องส่ง Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงานให้กับมหาวิทยาลัยที่ต้องการสมัคร และมหาวิทยาลัยจะพิจารณาจากผลงานและคุณสมบัติของนักเรียนที่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด

รอบที่ 2: โควตา (Quota)

รอบนี้จะเปิดรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือจังหวัดที่มหาวิทยาลัยนั้น ๆ ตั้งอยู่ หรือมีเงื่อนไขพิเศษอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยกำหนด เช่น โควตานักกีฬา โควตานักเรียนที่มีผลการเรียนดีในกลุ่มวิชาเฉพาะ

รอบที่ 3: การสอบตรงกลาง (Admission)

รอบนี้เป็นการรับสมัครที่มีการแข่งขันสูงที่สุด เนื่องจากเปิดรับนักเรียนจากทั่วประเทศ นักเรียนต้องใช้คะแนนจากการสอบกลางหรือคะแนนสอบเฉพาะทาง (เช่น กสพท.)    มาสมัครเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย โดยนักเรียนสามารถเลือกอันดับของคณะที่ต้องการสมัครได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

รอบที่ 4: รับตรงอิสระ (Direct Admission)

รอบนี้เป็นรอบสุดท้ายที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ยังไม่สามารถเข้าสู่มหาวิทยาลัยในรอบก่อนหน้าได้สมัครเข้าเรียนโดยตรงกับมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดเงื่อนไขและวิธีการคัดเลือกได้อย่างอิสระ

เงื่อนไขการบริหารจัดการสิทธิ์

  1. เมื่อเสร็จสิ้นการคัดเลือกแต่ละรอบ จะต้องเข้าระบบ TCAS เพื่อยืนยันสิทธิ์การเข้าศึกษาต่อ โดยยืนยันสิทธิ์ได้เพียงแห่งเดียว เท่านั้น! (เปลี่ยนใจได้ 2 ครั้งในช่วงเวลายืนยันสิทธิ์)
  2. หากไม่ยืนยันสิทธิ์ (ไม่ใช้สิทธิ์) สามารถไปสมัครรอบถัดไปได้
  3. กรณียืนยันสิทธิ์แล้ว ต้องการไปสมัครรอบถัดไป ต้องสละสิทธิ์ (ภายในช่วงเวลาที่กำหนด) จึงจะสามารถสมัครรอบถัดไปได้
  4. การสละสิทธิ์ทำได้ 1 ครั้ง ตลอดการคัดเลือก
Thumb
newspicture
ความเป็นมาและลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา

ความเป็นมาและลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา

          การทำความเข้าใจที่มาที่ไปและคุณลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพ จะสามารถทำให้อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาตระหนักและเห็นความสำคัญความเป็นครูในโลกศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนแปลงได้ และนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในการเขียนใบสมัคร UP-PSF1 ต่อไป  ในบทนี้ จึงขออธิบายเนื้อหาที่ประกอบด้วย 1) ความเป็นมาของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพ และ 2) ลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา

ความเป็นมา

          สถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกกําลังให้ความสนใจการพัฒนาอาจารย์ให้เป็นมืออาชีพทั้งด้านการวิจัย การพัฒนาหลักสูตรและการจัดเรียนการสอน นั่นคือเป็นการพัฒนาบทบาทของอาจารย์ให้มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถที่จําเป็นต่อการเรียนรูู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ให้มีความสามารถในการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและในระดับสากล และเพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

          การริเริ่มเกิดขึ้นจากสถาบันการอุดมศึกษาของอังกฤษ (The higher Education Academy: HEA) ได้การพัฒนากรอบมาตรฐานวิชาชีพดำเนินการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ (UK Professional standards framework: UKPSF) โดยก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระระดับชาติในสหราชอาณาจักรได้จัดทำกรอบมาตรฐานวิชาชีพระดับอุดมศึกษา United Kingdom Professional Standard Framework (UHPSF) เพื่อประเมินและรับรองหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพการสอนของคณาจารย์ และใน พ.ศ. 2560 HEA ได้ควบรวมกับ Equality Challenge Unit และ Leadership Foundation for Higher Education และเปลี่ยนชื่อเป็น Advance HE และร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก เพื่อจัดฝึกอบรมและประเมินคุณภาพการสอนและการกำหนดวิทยฐานะของผู้ผ่านการประเมิน (Descriptors) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ โดยต้องการให้อาจารย์มีความเป็นนักวิชาการ มีึความเป็นครูและมีความเป็นมนุษย์

         นอกจากที่ประเทศอังกฤษแล้วที่มี HE Academy (UK) – UKPSF ก็ยังมีแนวคิดมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพจากประเทศต่าง ๆ เช่น  Regional Pedagogical Centres for HE, Australian Professional Standards for teacher, Australian University Teaching, Criteria and Standard Framework และ National Board for Professional Teaching Standards[1] ซึ่งมีกำหนดกรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพเช่นกัน โดยมีลักษณะร่วมที่คล้ายคลึงกันแต่นำมาประยุกต์และกำหนดใช่้ในบริบทที่แตกต่างของประเทศและมหาวิทยาลัยของตนเอง

         ใน พ.ศ. 2558 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับสหภาพยุโรป (EU) ในโครงการ “TQF and the Development of Professional Standards Framework” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเป็นมืออาชีพของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านศาสตร์ในสาขา ด้านการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และทัศนคติที่ดีงามในความเป็นอาจารย์มืออาชีพ จนในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจัดทำกรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพที่เป็นกรอบกลางเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาที่สนใจได้มีแนวทางในการพัฒนากรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพตามบริบทของตนเองด้วยความสมัครใจ[2]

         มาตรฐานวิชาชีพของอาจารย์มืออาชีพ (PSF) สามารถนำมาใช้เป็นกรอบมาตรฐานการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ  ได้ เนื่องจากเป็นสากลและประยุกต์ใช้ในหลายประเทศได้ผลดี สอดคล้องกับวิธีการสอนจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่นำ PSF ของประเทศต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT-PSF) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT-PSF) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU-TPSF)  มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (SDUPSF) มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU-PSF) และมหาวิทยาลัยพะเยา (UP-PSF)

           จากที่มาและความสำคัญข้างต้น มหาวิทยาลัยพะเยาจึงมีประกาศเรื่อง มาตรฐานอาจารย์มืออาชีพ มหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของอาจารย์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนั่นนับว่า มหาวิทยาลัยพะเยาให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนและมุ่งพัฒนาให้อาจารย์มีความเป็นมืออาชีพในการเรียนการสอนที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยพะเยาไปสู่สถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับตามมาตรฐานยิ่งขึ้น

 

[1] โปรดดูรายละเอียดใน วิจิตร ศรีสอ้าน. (สื่อนำเสนอ).ความก้าวหน้าของวิชาชีพอาจารย์และแนวทางการพัฒนากรอบมาตรฐานวิชาชีพด้านการสอนของ มทส.., วิจิตร ศรีสอ้าน. (สื่อนำเสนอ). แนวทางการพัฒนาอาจารย์ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ UKPSF ในประเทศไทย. และ สุวมาลย์ ม่วงประเสริฐ. (สื่อนำเสนอ). กรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพด้านการสอน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต. คณะกรรมการพัฒนากรอบมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต.

[2] สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา. (2561). แนวทางการส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.

 

ลักษณะของมาตรฐานระดับอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา

การส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะและประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน จำนวน 3 องค์ประกอบ ดังนี้

1. องค์ความรู้ (Knowledge)-KNOW (knowledge)

1.1 ความรู้ในศาสตร์สาขาของตน

1.2 ความรู้ในศาสตร์การสอนและการเรียนรู้

2.  สมรรถนะการจัดการเรียนรู้ (Professional competencies)-DO (activities)

    2.1 ออกแบบและวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน

    2.2 ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    2.3 เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน

    2.4 วัดประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน พร้อมทั้งสามารถให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์

3.  คุณค่าของอาจารย์ (Professional values)-BE (values)

    3.1 คุณค่าในการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

    3.2 ธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอาจารย์

        คุณภาพการจัดการเรียนการสอนในแต่ละองค์ประกอบข้างต้น กำหนดให้มีระดับของคุณภาพของแต่ละองค์ประกอบ จำนวน 4 ระดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของอาจารย์ด้านการจัดการเรียนการสอน โดยใน 4 ระดับ มีดังนี้

       ระดับที่ 1 เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของตนและประยุกต์ใช้ได้ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้เบื้องต้น สามารถออกแบบกิจกรรม จัดบรรยากาศ ใช้ทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงผู้เรียนและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ สามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน นำผลประเมินมาใช้ปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์ขององค์กร

     ระดับที่ 2 เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนการสอนระดับที่ 1 ที่มีความรู้ลึกในศาสตร์ของตน และติดตามความก้าวหน้าของความรู้ในศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้ สามารถจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน กำกับดูแลและติดตามผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่เพื่อนอาจารย์ในศาสตร์ได้ และส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์ภายในองค์กร

     ระดับที่ 3 เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนการสอนระดับที่ 2 ที่เชี่ยวชาญ ในศาสตร์ของตน ศาสตร์การเรียนรู้ และการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ นำผลการวิจัยในชั้นเรียนมาพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เป็นพี่เลี้ยงและผู้ชี้แนะในระดับองค์กรด้านการจัดการเรียนรู้และนโยบายด้านจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์

     ระดับที่ 4 เป็นผู้มีคุณภาพการจัดการเรียนการสอนระดับที่ 3 ที่เป็นผู้นำในศาสตร์ของตน ศาสตร์การเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาองค์ความรู้ และการจัดการเรียนรู้ในระดับชาติและนานาชาติ เป็นผู้นำเชิงนโยบายด้านจรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์

 


 

Thumb
newspicture
กองบริการการศึกษา จัดโครงการอบรมบุคลากรจังหวัดพะเยา หลักสูตรการยกระดับทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ฯ

         โครงการอบรมบุคลากรจังหวัดพะเยา หลักสูตรการยกระดับทุนทางวัฒนธรรม

เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนภายใต้

โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนจังหวัดพะเยา

         วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2567 กองบริการการศึกษา จัดโครงการอบรมบุคลากรจังหวัดพะเยา หลักสูตรการยกระดับทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนจังหวัดพะเยา โดยมี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชลธิดา เทพหินลัพ กล่าวเปิดโครงการ และชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ จากนั้นเป็นกิจกรรมออกแบบการยกระดับมูลค่าของวัฒนธรรมชุมชนโดยใช้ข้อมูลบริบท และสถานการณ์ของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมชุมชน ร่วมกับกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) โดยทีมวิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัมเรศ เทพมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.น้ำเงิน จันทรมณี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชระ แลน้อย ดร.จารุวรรณ โปษยานนท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กาญจนุรัตน์ ไมรินทร์ ดร.วิทวัส สัจจาพงศ์ อาจารย์นวพร เกษสุวรรณ อาจารย์กมลพงศ์ รัตนสงวนวงศ์ อาจารย์อุดมศักดิ์ จิรกาลกุลเกษม และอาจารย์บุรินทร์ บัณฑะวงศ์ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้กำหนดการอบรม ระหว่างวันที่ 7 กันยายน 2567 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2567

       การจัดโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรจังหวัดพะเยาได้รับรู้ถึงกระบวนการยกระดับมูลค่าของวัฒนธรรมชุมชนโดยใช้ข้อมูลบริบทและสถานการณ์ของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมชุมชน โดยใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) และการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ หรือบริการทางวัฒนธรรมชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย บุคลากรจังหวัดพะเยา จำนวนทั้งสิ้น 39 คน ณ ห้องประชุม Waterside ชั้น 2 โรงแรม M2 Hotel Waterside จังหวัดพะเยา

Thumb Thumb
newspicture
นิสิตทุนพระราชทานภายใต้โครงการพระราชทาน ความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา (ด้านการศึกษา) ปีการศึกษา 2567 เข้าพบ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา

    เมื่อวันพุธที่ 12 มิถุนายน 2567 ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชระ แลน้อย พร้อมด้วยผู้อำนวยการกองบริการการศึกษา นางสาวกัลวรา ภูมิลา และงานวิเทศสัมพันธ์ ได้นำนิสิตทุนพระราชทานภายใต้โครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา (ด้านการศึกษา) ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปีการศึกษา 2567 ระดับปริญญาตรี จำนวน 6 คน เข้าพบอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร ในการนี้ อธิการบดีได้กล่าวให้โอวาทแก่นิสิตพร้อมแนะนำการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยพะเยา และได้มอบของที่ระลึกแก่นิสิตเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ณ ห้องประชุมอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา

    ซึ่งในปัจจุบันมีนิสิตกัมพูชาที่กำลังศึกษาอยู่ในคณะต่างๆของมหาวิทยาลัยพะเยา จำนวน 16 คน และสำเร็จการศึกษาแล้ว จำนวน 54 คน 

Thumb Thumb
newspicture
กองบริการการศึกษา จัดกิจกรรมต้อนรับฟ้ามุ่ยช่อที่ 14 โครงการเตรียมความพร้อมด้านวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยของนิสิตชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2567

          วันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2567 กองบริการการศึกษา จัดกิจกรรมต้อนรับฟ้ามุ่ยช่อที่ 14 โครงการเตรียมความพร้อมด้านวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยของนิสิตชั้นปีที่ 1 โดยมี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองอธิการบดี คณบดีคณะ/วิทยาลัย และผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา ให้เกียรติร่วมต้อนรับนิสิตใหม่ปีการศึกษา 2567 อย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง ณ ห้อง UB003 อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ และ ได้ถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงกิจกรรมฯ ไปยังอาคารเรียนต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยพะเยา
         โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ได้กล่าวต้อนรับนิสิตใหม่ฟ้ามุ่ยช่อที่ 14 และบรรยายเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยพะเยาที่มุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานิสิตให้มีสมรรถนะและทักษะแห่งอนาคต จากนักเรียนสู่นิสิตและเป็นบัณฑิตพร้อมทำงาน หลังจากนั้น รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิดา เทพหินลัพ และ รองอธิการบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต ดร.วุฒิชัย ไชยรินคำ ร่วมบรรยาย เรื่อง การเรียนและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยพะเยา ถัดมาเป็นการแนะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนิสิตในการเรียน และการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ได้แก่ กองบริการการศึกษา, กองพัฒนาคุณภาพนิสิตและนิสิตพิการ , กองกิจการนิสิต และแนะนำผู้นำนิสิตประจำปี 2567 ได้แก่ นายกองค์การนิสิต, ประธานสภานิสิต, ประธานสหเวียง , ประธานสารวัตรนิสิต ต่อมาเป็นการแนะนำการทดสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษ ผ่านระบบ Neo+ โดย รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะศิลปศาสตร์ ดร.ชนาภา ดวงไฟ 
          ช่วงสุดท้าย กิจกรรม Study-Life Balance ปรับสมดุลชีวิตการเรียน โดยมีศิษย์เก่า นายจุติบดี จันทรางศุ  หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์  และทพญ. ณัฐปภัสร์ ชยุตพงศ์ หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต คณะทันตแพทยศาสตร์ ศิษย์ปัจจุบัน นายวีรภัทร์ สินธุวงศ์  หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนิสิตใหม่   โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัชระ แลน้อย ผู้ช่วยอธิการบดี และ อาจารย์อุดมศักดิ์ จิรกาลกุลเกษม เป็นผู้ดำเนินรายการ 
          การจัดกิจกรรมต้อนรับฟ้ามุ่ยช่อที่ 14 ภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมด้านวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยของนิสิตชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตชั้นปีที่ 1 ได้เตรียมความพร้อมด้านทักษะการใช้ชีวิต อันจะนำไปสู่การปรับตัวในการเรียนในมหาวิทยาลัย รวมทั้งเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนิสิตกับผู้บริหาร คณาจารย์ และเพื่อนอีกด้วย 
         นอกจากนี้ อธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา ยังได้ร่วมพบปะพูดคุยกับนิสิตใหม่ทุกคณะ/วิทยาลัย ที่เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องย่อยอื่นๆ ภายใน อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ , อาคารเรียนรวมหลังใหม่ และ อาคารเรียนร่วมหลังเก่า โดยมีนิสิตเข้าร่วมโครงการฯ มากกว่า 5,000 คน
 

ภาพ: ธาราทิพย์ สูงขาว, ปราการ บุญมาวงค์

ข่าว: สุมิตรา อินทะ

Thumb Thumb Thumb
newspicture
กองบริการการศึกษา จัดโครงการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ หัวข้อ การใช้ GenAi และ Technology เพื่อพัฒนาการเรียนรู้

          วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 08.30-16.00 น. กองบริการการศึกษาจัดโครงการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ โครงการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการ หัวข้อ การใช้ GenAi และ Technology เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ โดยมี ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชระ แลน้อย กล่าวเปิดโครงการ และได้รับเกียรติจาก ดร.พฤทธิ์ พุฒจร สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นวิทยากรบรรยายเชิงปฏิบัติการ โดยในช่วงเช้าเป็นการบรรยาย หัวข้อ หลักการทำงานของ GenAi และ Technology และการประยุกต์การใช้งานในเบื้องต้น และช่วงบ่าย เป็น กิจกรรม Workshop การสร้างสื่อคอนเทนต์ดิจิทัล ซึ่งการจัดโครงการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรสายวิชาการสามารถนำ GenAi มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน การวิจัย และสามารถสร้างสื่อคอนเทนต์ดิจิทัลสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          โดยผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย บุคลากรสายวิชาการ จำนวนทั้งสิ้น 100 คน ณ ห้องประชุมเมืองพะเยา (ICT 1247) อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา

Thumb Thumb Thumb
newspicture
กองบริการการศึกษา จัดกิจกรรมการจัดอบรมทักษะการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับบุคลากรกองบริการการศึกษา

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2567 กองบริการการศึกษา ได้จัดโครงการพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับบุคลากรและกิจกรรมความเป็นสากล พ.ศ. 2567 โดยมี ผู้อำนวยการกองบริการการศึกษา นางสาวกัลวรา ภูมิลา กล่าวเปิดโครงการดังกล่าว และได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิดาวัลย์ อุ่นกอง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการศึกษา อาจารย์อุดมศักดิ์ จิรกาลกุลเกษม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และอาจารย์อริยาภรณ์ มโนใจ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ในกิจกรรมการจัดอบรมทักษะการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับบุคลากรกองบริการการศึกษา พ.ศ. 2567 

โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้บุคลากรมีความกล้าใช้ภาษาอังกฤษเมื่อพบปะชาวต่างชาติ รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย บุคลากรกองบริการการศึกษา และบุคลากรสายสนับสนุนที่สนใจ จำนวนทั้งสิ้น 70 คน ณ ห้อง PN4, หอประชุมพญางําเมือง
 

Thumb Thumb
newspicture
กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจาก สำนักงานทะเบียนนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ.  2567 เวลา 13.00 น. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิดา เทพหินลัพ มอบหมายให้ ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชระ แลน้อย พร้อมด้วย หัวหน้างานทะเบียนนิสิต หัวหน้างานพัฒนาหลักสูตร หัวหน้างานสนับสนุนวิชาการ หัวหน้างานวิเทศสัมพันธ์ หัวหน้างานพัฒนาระบบสารสนเทศทางวิชาการ หัวหน้างานธุรการหัวหน้างานรับเข้า และบุคลากรกองบริการการศึกษา ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานจาก สำนักงานทะเบียนนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย รองผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร วัฒนาสวัสดิ์  รองผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัลและนวัตกรรมบริการ ดร.นพธนิษฐ์ โชติสาร  หัวหน้างาน และบุคลากร เข้าศึกษาดูงาน “ระบบการให้บริการทางการศึกษาที่สนับสนุนการปฏิบัติงาน” ณ ห้องประชุมชูชาติ กีฬาแปง ตึกสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา 

Thumb Thumb Thumb